AGRI-INNO ASIA 2019 – Connecting You through Advancement, Efficiency and Sustainability

GECS จับมือ มช. จัดงานนวัตกรรมเกษตรแห่งเอเชีย “AGRI-INNO ASIA 2019”

บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด หรือ GECS ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือ มช. จัดงานนวัตกรรมเกษตรแห่งเอเชีย (AGRI-INNO ASIA 2019) ระหว่างวันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามความร่วมมือจัดงาน AGRI-INNO ASIA 2019 เพื่อแสดงศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรแห่งเอเชีย ท่ามกลางสักขีพยาน สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย สมาคมผู้ค้าอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ไทย และบริษัท เทวดา คอร์ป จำกัด

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ เปิดเผยว่า งาน AGRI-INNO ASIA 2019 เป็นงานแสดงสินค้า บริการ นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำ อาทิ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ การเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำ การแปรรูป การตลาด การขนส่ง จนเป็นอาหารที่มีคุณภาพเสิร์ฟบนจานของผู้บริโภค รวมทั้งให้บริการจับคู่ธุรกิจ การประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ และกิจกรรมเยี่ยมชมฟาร์มสาธิต โดยจัดร่วมกับงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 9 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ภายในศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน วันที่ 7-11 พฤศจิกายน 2562  คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานประมาณ 80,000 คน จากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา  เวียดนาม จีน และไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐา โพธาภรณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการร่วมจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการเสริมศักยภาพการจัดงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 9 ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านวิชาการและด้านพัฒนาภาคธุรกิจ ขณะเดียวกัน เป็นการเฉลิมฉลองในวาระที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครบรอบ 55 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์ การผลิตด้านการเกษตร การพัฒนาเกษตรที่สูง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ธุรกิจเกษตร การส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป

นายศราวุธ ฉันทจิตปรีชา นักวิชาการเกษตร สถานเอกอัคราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงอนาคตแห่งนวัตกรรมการเกษตรและอาหารว่า “จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารจากการผลิตภาคการเกษตรก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้น นวัตกรรมการเกษตรที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ (Ecologically Oriented Innovation Agriculture) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับฟาร์ม พื้นที่ ชนิดของพืชสัตว์ ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบในเรื่องของการเกษตรแห่งอนาคต (Homebased for Future Agriculture) ยินดีให้การสนับสนุนงาน AGRI-INNO ASIA 2019 เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรสำหรับเกษตรกรและผู้สนใจในเขตภาคเหนือของไทย ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน

นายธีรพงษ์ กาญจนกันติกุล บริษัท เทวดา คอร์ป จํากัด กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อภาคการเกษตรว่า “การนำนวัตกรรมมาใช้ในภาคเกษตรกรรมของไทยเป็นสิ่งจำเป็นมากในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดรน ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน ลดต้นทุนในการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ อาทิ ใช้หว่านเมล็ดพันธุ์ ฉีดพ่นปุ๋ย สารกำจัดวัชพืช รวมทั้งยังช่วยในการสำรวจพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการแปลงปลูกได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ปัจจุบัน โดรนมีต้นทุนเฉลี่ยเพียง 80-100 บาทต่อไร่ และยังช่วยลดปริมาณการปุ๋ยหรือสารกำจัดวัชพืชลง เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการฉีดพ่น และขจัดปัญหาการเหยียบย่ำทำลายพืชปลูกได้ดีมากกว่าแรงงงานมนุษย์”

นายแดงน้อย พหลทัพ ประธานสมาคมผู้ค้าอุปกรณ์การเลี้ยงสัตว์ไทย กล่าวเสริมว่า “นอกจากปัญหาแรงงานแล้ว เกษตรกรยังมีปัญหาเรื่องหนี้สิน เงินทุน ขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี โรคระบาดในฟาร์มปศุสัตว์ และพื้นที่ฟาร์มขนาดใหญ่ลดลง เพราะการเติบโตของชุมชน อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ส่งผลให้ต้องย้ายฟาร์มออกไปไกลขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตในที่สุด ดังนั้น แนวทางสำคัญในการจัดการปัญหา คือ การนำระบบจัดเก็บข้อมูลและบริหารต้นทุนเพื่อบริหารจัดการฟาร์มและขนส่ง ควบคู่ไปกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการเลี้ยงเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของปศุสัตว์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อํานวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. กล่าวว่า งาน AGRI-INNO ASIA 2019 เป็นเวทีของการแสดงสินค้าและบริการสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร การแปรรูป และการตลาดอย่างครบวงจร เปิดโอกาสทางการค้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในภาคการเกษตรและอาหาร ขณะเดียวกันเป็นช่องทางที่ทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ได้เข้ามาสัมผัสมาตรฐานการผลิต บริการและศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย โดยในปี 2562 สสปน. ตั้งเป้าดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 35 ล้านราย และสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศประมาณ 2.2 แสนล้านบาท คาดเป็นกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1.3 ล้านราย สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1 แสนล้านบาท และกลุ่มไมซ์ในประเทศ 34 ล้านราย สร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

“การจัดงาน AGRI-INNO ASIA 2019  จะช่วยผลักดันภาคเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรม ให้เกษตรกรมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ รวมทั้งต้นทุนการผลิตลดลง สร้างผลกำไรได้มากขึ้น  ขณะเดียวกันเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้สามารถเติบโตในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน” นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กล่าวสรุป

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมออกร้านหรือเข้าร่วมชมงาน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ 0 2026 3583 อีเมล์ info@gecsasia.com หรือเว็บไซต์ www.agri-asia.com

Start up สัญชาติสกอต ประสบความสำเร็จผลิตฟิล์มพลาสติกจากเปลือกกุ้งสร้างวิถีอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องของการผลิตถุงพลาสติกและบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยเฉพาะนวัตกรรมในการผลิตพลาสติกจากเปลือกของสัตว์ในตระกูลครัสเตเชียน เช่น กุ้ง ปู และสัตว์อื่นๆ ที่มีเปลือกแข็ง มีหลายโครงการในต่างประเทศเกี่ยวกับการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเปลือกของสัตว์ทะเลเหล่านั้นซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารทะเลรวมถึงผู้บริโภคก็ตั้งตารอว่าเมื่อไรจะได้ใช้จริงเสียที…

ล่าสุดบริษัททางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล CuanTec ประเทศสก็อตแลนด์ ออกมาเผยถึงความสำเร็จของการผลิตฟิล์มพลาสติกจากเปลือกกุ้งที่เหลือจากการผลิตอาหารทะเล และเตรียมขยายผลสู่การผลิตเพื่อใช้งานจริงท่ามกลางการจับตามองจากทั่วโลก

โดยประโยชน์ของฟิล์มพลาสติกชนิดนี้อยู่ที่สารไคโตซานในพลาสติก ไคโตซานเป็นสารที่ถูกเลือกเนื่องจากสามารถย่อยสลายได้จริง มีการนำไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ทางการแพทย์แล้ว รวมถึงมีความสามารถในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เราใช้พลาสติกห่ออาหารได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับรูปลักษณะที่เป็นพลาสติก

โดยทั่วไป การใช้พลาสติกเพื่อห่อบรรจุอาหารนั้นก็มีจุดประสงค์ในการใช้งาน อย่างเช่น แตงกวาที่ห่อด้วยพลาสติกในซูเปอร์มาร์เก็ตแม้อาจจะดูไม่ดี แต่วิธีนี้ทำให้ผักดังกล่าวมีระยะเวลาการเก็บนานขึ้นและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นขยะอาหารน้อยลง เพราะการทิ้งขยะอาหารอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าตัวของพลาสติกเอง อย่างไรก็ตาม พลาสติกในรูปแบบที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นยังเป็นแบบไม่ยั่งยืน ในหนึ่งปี ทั่วโลกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารพลาสติกมากกว่า 160 ล้านตัน โดยเป็นพลาสติกที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมีส่วนน้อยที่จะรีไซเคิลได้

ในห้องปฏิบัติการของ CuanTec ซึ่งเป็นบริษัท Start up สัญชาติสกอต นักวิจัยกำลังเปลี่ยนของเสียจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลให้กลายเป็นห่อพลาสติกชนิดใหม่ที่สามารถทิ้งลงถังหมักได้อย่างปลอดภัย Cait Murray-Green, CEO ของบริษัท Start up เปิดเผยว่า “เรากำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารที่สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์และเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งยังคงมีลักษณะและให้ความรู้สึกกับผู้บริโภคเหมือนกับพลาสติกปิโตรเลียม แต่ความแตกต่างก็คือหลังจากใช้งานแล้วจะไม่เป็นการเพิ่มขยะพลาสติกซึ่งมีนับล้านตันแล้วไปจบในมหาสมุทรอย่างแน่นอน”

Source: fastcompany.com

ความท้าทายคือการสร้างบางสิ่งที่ทำหน้าที่เหมือนกัน แต่เป็นแนวทางที่ยั่งยืน” – Cait Murray-Green, CEO of the startup, called CuanTec 

ในด้านของการผลิตนั้นใช้กระบวนการหมักคล้ายกับการต้มเบียร์เพื่อแยกสารที่เรียกว่า “ไคติน” จากเปลือกของกุ้งแลงกูสทิน ซึ่งเป็นกุ้งชนิดหนึ่งที่คล้ายกับล็อบสเตอร์ โดยที่สกอตแลนด์อุตสาหกรรมประมงสร้างขยะจากเปลือกกุ้งเป็นจำนวนมาก และแม้ว่าไคตินจะมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่กระบวนการสกัดไคตินนั้นมีต้นทุนสูงมาก จึงยังทำให้เปลือกกุ้งส่วนใหญ่ถูกโยนทิ้งไป

Source: cuantec.com/science

“วิธีโดยทั่วไปในการสกัดสารไคตินนั้นต้องใช้สารเคมีที่รุนแรงและอุณหภูมิสูง ซึ่งนั่นไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเลย แถมยังราคาแพงด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือการทิ้งความคิดที่จะใช้สารเคมีและใช้วิธีทางชีววิทยา” Murray-Green กล่าว

โดยกระบวนการผลิตนั้นจะสร้างวัสดุที่มีความบริสุทธิ์และมีคุณภาพสูง ซึ่งจะมีการนำไปผลิตเป็นฟิล์มใสที่สามารถใช้ในบรรจุภัณฑ์ได้ ที่ผ่านมามีการพยายามใช้วัสดุในรูปแบบดังกล่าวเพื่อผลิตเป็นฟิล์มบรรจุภัณฑ์ แต่ก็พบกับปัญหาเรื่องของสีฟิล์มที่เหลืองซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจสำหรับผู้บริโภคเท่าใดนัก วัสดุที่ผลิตขึ้นนี้มีคุณสมบัติต้านจุลชีพตามธรรมชาติจึงเป็นการปกป้องอีกชั้นหนึ่งที่ไม่มีในพลาสติกซึ่งทำจากปิโตรเคมี และเมื่อผู้บริโภคใช้งานเสร็จแล้วก็สามารถโยนลงสวนหลังบ้านของพวกเขาเพื่อให้ย่อยสลายได้เลย

ในทางธุรกิจนั้น ผู้ผลิตฟิล์มพลาสติกถือว่าได้ประสบความสำเร็จในการผลิตฟิล์มต้นแบบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการผลิตให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนทางด้านกฎระเบียบสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหาร จากนั้นก็เตรียมผลิตเพื่อใช้จริง โดยล่าสุดทาง Waitrose ซูเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักรให้ความสนใจในการนำไปใช้กับสินค้าอาหารในห้าง โดยมีแผนจะนำไปใช้ห่อเนื้อปลาแซลมอน เป็นการสร้างวัฏจักรในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

สำหรับการใช้งานจริงนั้น บรรจุภัณฑ์ควรจะมีการทำเครื่องหมายเพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าสามารถทิ้งลงในถังหมักเศษอาหารได้เลยไม่ใช่ขยะทั่วไป หรือทำเครื่องหมายด้วยสีย้อมอินฟราเรดเพื่อให้โรงงานรีไซเคิลสามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ทางผู้ผลิตฟิล์มพลาสติกเชื่อว่าทุกภาคอุตสาหกรรมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับวิธีการกำจัดบรรจุภัณฑ์แบบพิเศษเหล่านั้น

“เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น คือการที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถไปถึงจุดที่จะสร้างบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารซึ่งจะต้องย่อยสลายได้” Murray-Green

ทั้งนี้ สารไคตินยังสามารถพบได้ในอาหารอื่นๆ เช่น เห็ด และบริษัทได้วางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบเดียวกันนี้เพื่อสร้างบรรจุภัณฑ์จากแหล่งวัตถุดิบอื่นๆ “สิ่งที่เราตั้งใจไว้ก็คือการสร้างประวัติศาสตร์ทางด้านมลพิษจากพลาสติก” Murray-Green

เป้าหมายและแนวคิดดีๆ แบบนี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับวงการอุตสาหกรรมอาหารได้มาก และหวังว่าความสำเร็จของการผลิตและใช้ได้จริงแล้วนั้นจะได้รับการต่อยอดให้แพร่หลายไปในทั่วโลก เพราะเรื่องของปริมาณขยะพลาสติกนั้นกำลังบั่นทอนระบบนิเวศทางธรรมชาติในหลายพื้นที่ ในมุมของผู้ผลิตอาหารและผู้บริโภคเชื่อว่าหากมีหนทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมทุกคนก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างแน่นอน และที่สำคัญนวัตกรรมใดก็ตามที่ประสบความสำเร็จออกสู่ตลาดได้แล้ว ท้ายที่สุดก็ต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระด้านราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคด้วย

 

อ้างอิง:

www.fastcompany.com/90388590/this-startup-created-compostable-plastic-wrap-out-of-shellfish-shells

www.cuantec.com/science

ec.europa.eu/research/infocentre/article_en.cfm?artid=36357

 

อุตสาหกรรมอาหารมังสวิรัติแปรรูปในแคนาดาโตต่อเนื่อง เตรียมสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ

โดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

Continue reading “อุตสาหกรรมอาหารมังสวิรัติแปรรูปในแคนาดาโตต่อเนื่อง เตรียมสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือ”

เนสท์เล่ เปิดตัวช็อกโกแลตนมแบบใหม่ อร่อยหวานให้สบายใจกับเทคโนโลยีการลดน้ำตาล

Continue reading “เนสท์เล่ เปิดตัวช็อกโกแลตนมแบบใหม่ อร่อยหวานให้สบายใจกับเทคโนโลยีการลดน้ำตาล”

Dunkin เดินหน้าไปอีกขั้น…ประกาศใช้ฝาปิดถ้วยกาแฟแบบร้อนผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ตอกย้ำความสำเร็จของการเปลี่ยนถ้วยกาแฟจากโฟมเป็นกระดาษ

CANTON, MASS. Continue reading “Dunkin เดินหน้าไปอีกขั้น…ประกาศใช้ฝาปิดถ้วยกาแฟแบบร้อนผลิตจากวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ ตอกย้ำความสำเร็จของการเปลี่ยนถ้วยกาแฟจากโฟมเป็นกระดาษ”