7 มาตรการทางการตลาด รองรับการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)  วาง 7 มาตรการรองรับผลกระทบการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ เตรียมหาตลาดใหม่ทดแทน อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น บาห์เรน กาตาร์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร รัสเซีย CLMV และ อินโดนีเซีย พร้อมเร่งขยายการส่งออกให้สูงขึ้นก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้

 

จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) ที่เคยให้ไทยบางรายการเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นั้น นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงมาตรการดังกล่าวว่าจะยังคงไม่กระทบต่อเป้าส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ ในปี 2562  ที่วางไว้ขยายตัวร้อยละ 4 เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว ซึ่งยอดส่งออก 9 เดือนแรกคิดเป็นร้อยละ 73-75 ของทั้งปี  คาดว่าช่วงนี้ผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้าก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมมาตรการรองรับ และเพิ่มกิจกรรมหาตลาดทดแทน พร้อมทั้งได้หารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดตลาดและกิจกรรมด้วยแล้ว โดยในเบื้องต้นมี 7 มาตรการรองรับ ดังนี้

1. เร่งขยายการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้จนถึงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ โดยมีกิจกรรมผลักดันให้การนำเข้าขยายตัวมากขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้าที่จะได้รับผลกระทบการมาเตรียมไว้ก่อน ดังนั้น ในช่วงนี้อาจมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทย ในขณะเดียวกันได้มีการคืนสิทธิ/ผ่อนผันตามเกณฑ์จีเอสพีรายสินค้าแก่ไทยจำนวน 7 รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง ดอกกล้วยไม้สด เห็ดทรัฟเฟิล ผงโกโก้ หนังของสัตว์เลื้อยคลาน เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า ซึ่งกรมจะเร่งขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้แก่สินค้าเหล่านี้ไปพร้อมกัน

2. เร่งกระจายความเสี่ยงโดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลายและแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ การดำเนินงานของทูตพาณิชย์ในขั้นต่อไปคือเร่งหาตลาดให้แก่สินค้าที่ได้รับผลกระทบ และสำรวจความต้องการของตลาด ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนขายสินค้าของประเทศไทย โดยในช่วงนี้ถึงกลางปี 2563 เตรียมบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก อาทิ อินเดีย บาห์เรนและกาตาร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตุรกี รัสเซีย CLMV ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย เป็นต้น

3. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป โดยใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของสำนักงานขาย หรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือในประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย อาทิ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เพื่อใช้สิทธิในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ

4. เร่งสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า โดยการกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตร และเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลาง และ SMEs ในประเทศต่างๆ

5. สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารไทย และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด

6. รักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า โดยการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวโน้ม (Trend) ของตลาด อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าเพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย

7. ผลักดันการค้าผ่าน thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิม พร้อมกันนี้กรมได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะเปิด TopThai Flagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวร่วมกับ TMall Global ในจีน และจะขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป