สรุปสาระสำคัญของการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ Hand in Hand for our Future of Food เพื่อเชื่อมโยงให้ระบบอาหารเราเกื้อกูลกับระบบอาหารโลก

ร่วมไขคำตอบเพื่ออนาคตของอาหารบนแนวคิด Future of Food and Sustainability โดย Mr. Renaud Mayers UNDP Thailand ซึ่งได้กล่าวโดยสรุปว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับโลก เนื่องจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่แม้แต่ตาเปล่าก็ยังมองไม่เห็นอย่าง ‘โคโรนาไวรัส’ ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก นอกจากปัญหาเรื่องของไวรัสแล้ว ยังมีปัญหาระดับโลกที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ สภาพอากาศที่แปรปรวนและสภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกและการดำรงชีวิต รวมไปถึงวิถีการอุปโภคและบริโภคได้ แต่เพราะว่าโลกไม่มีวันเหมือนเดิม (Disruption) จึงต้องแก้ปัญหานี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่คุ้นชิน (Disrupted from comfort zone) อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง พยายามเพิกเฉยไม่สนใจต่อปัญหา ดังนั้นจึงต้องการสัญญาณเตือนที่ดังมากพอที่จะให้เกิดความตระหนัก (Awareness) ถึงสิ่งที่ต้องแก้ไข และใช้ Innovation (นวัตกรรม) เพื่อหาทางแก้ไขหรือยับยั้งปัญหานั้น เช่น การเปลี่ยนอาหารจากเนื้อสัตว์กลายเป็นอาหารจากพืช ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า และมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนและสภาวะโลกร้อนได้ และสิ่งที่จะช่วยให้นวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นยังคงอยู่ รวมทั้งแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ Mindset (รูปแบบความคิด) ซึ่งเป็นคำสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น อย่างเช่น การทำความเข้าใจว่า การที่เราลดการบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์ และเปลี่ยนมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืชแทน เนื่องจากมีความเกี่ยวโยงกับสภาพแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการทำปศุสัตว์  รวมทั้งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดความรู้และลงมือปฏิบัติเพื่อให้แก้ปัญหาได้สำเร็จ และทำให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นจะมีสิ่งที่น่ากลัวกว่าเชื้อไวรัสโคโรนารออยู่อย่างแน่นอน

Dr. Gijs Theunissen Agricultural Counsellor Netherlands Ambassy ได้เสริมแนวคิดของ Future of Food and Sustainability โดยสรุปว่า อนาคตของอาหาร คือ อาหารที่ใช้นวัตกรรมและเกิดขึ้นในอนาคต หรืออาหารที่พบเจอได้ทั่วไป เช่น แมลง ซึ่งคนไทยมองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะใช้แมลงเพื่อทำอาหาร และตอนนี้แมลงก็ได้กลายเป็นอาหารแห่งอนาคตแล้ว หรืออาจจะเป็นอาหารที่ทำจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งดีต่อสุขภาพร่างกายมากกว่า แต่นอกจากเรื่องของสุขภาพแล้วยังต้องคำนึงถึงรสชาติที่จะดึงดูดให้กลับมาบริโภคซ้ำ นอกจากนี้ยังต้องการความร่วมมือเพื่อให้เกิดการหาแหล่งโปรตีนที่แตกต่าง ในราคาที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พร้อมทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัยและมีความยั่งยืน

แนวคิดถัดมาที่จะมาร่วมกันไขคำตอบ คือ Tourism, Local Wisdom, Michelin Star and Future of Food จากคุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาดและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งท่านได้กล่าวโดยสังเขปว่า ในปี 2562 ก่อนที่จะมีโรคระบาด โคโรนาไวรัสเกิดขึ้น ประเทศไทยประสบความสำเร็จในเรื่องของการท่องเที่ยว และมีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคน มีรายได้ถึง 2 ล้านล้านบาท โดยหนึ่งในสามมาจากการท่องเที่ยวในประเทศ และรายได้กว่าร้อยละ 25-30 นั้นมาจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์แห่งการรับประทาน ซึ่งโดดเด่นเป็นอย่างมากของประเทศไทย แต่เพราะโรคระบาดที่เกิดขึ้นทำให้นโยบายเปลี่ยนแปลง เกิดการปิดประเทศและมีผลกระทบด้านลบต่อทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่ในปีนี้นโยบายเริ่มมีการผ่อนปรน จึงมีเป้าหมายที่จะปลุกกระแสการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยวแต่ยังนำอาหารการกินเข้ามาเชื่อมโยง และไม่ใช่แค่การคิดค้นอาหารใหม่ แต่ต้องรวมเอาความยั่งยืนสอดแทรกเข้าไปด้วย ประกอบกับที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีแคมเปญ Amazing new chapters: From A to Z Thailand has it all ตัวอย่างเช่น O – Organic life style, Q – Quest of dining, V- Vegan, T-Thai recipe หรือ Z- Zero food waste ที่ส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยวและอาหาร ผนวกกับแคมเปญ SPOT (Soft Power Of Thailand) และ 4F ที่สำคัญของประเทศไทย คือ Food, Film, Festival and Fabric โดยเน้นที่ Food เพราะอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่งแก่ประเทศไทย

 

และแนวคิดสุดท้ายที่มาร่วมไขคำตอบในหัวข้อนี้ ก็คือ Innovation for Future of Food โดย ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวถึงปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ นั่นก็คือ จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายในปี 2050 จะมีประชากรในโลกประมาณ 10 พันล้านคน หมายความว่ามีประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันล้านคน ความต้องการบริโภคอาหารมีมากขึ้นแต่พื้นที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งแหล่งเพาะปลูก แหล่งน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกและการทำปศุสัตว์ ส่งผลกระทบและเป็นเหตุให้เกิดสภาวะโลกร้อน ประกอบกับสังคมผู้สูงอายุที่อาจมีถึง 2.1 พันล้านคน และผู้สูงอายุมีความต้องการอาหารและสารอาหารที่มีความพิเศษขึ้น เช่น สามารถเคี้ยว กลืน และย่อยง่าย รวมกับผู้ป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ซึ่งคร่าชีวิตกว่า 41 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เสียอีก สาเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น มีความเกี่ยวข้องกับอาหาร สุขภาพ และความยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งคือการหาแหล่งอาหารทดแทน ทำให้เกิดคำว่า อาหารแห่งอนาคตขึ้น และอาหารแห่งอนาคตอาจมีการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี โดยอาจเป็นอาหารเดิมที่มีเทคโนโลยีใหม่ ในการทำให้อาหารที่ทำจากพืชมีรสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนจริง หรือวัตถุดิบใหม่ และใช้เทคโนโลยีทำให้เป็นอาหารฟังก์ชัน ที่มีราคาจับต้องได้ และได้สุขภาพที่ดี นอกจากนี้ยังต้องมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้ AI, Big data หรือ Co-farming ที่ช่วยให้ใช้พื้นที่น้อยลงแต่ยังได้ผลผลิตเท่าเดิม และอาหารยังคงมีทั้งวิตามิน แร่ธาตุที่ดีต่อสุขภาพ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคซึ่งชื่นชอบอาหารที่มีความสดใหม่ เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไม่ได้ทำมาจากพลาสติก ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล  และนำเทคโนโลยีมาลดการเกิด Food waste นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแนวทางที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ SME และ Start up เพื่อให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีวัตถุดิบอาหารหลากหลาย สามารถส่งออกสู่ต่างประเทศ และสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่ออุตสาหกรรมอาหารในระดับโลกได้

เมทเล่อร์-โทเลโด ประชาสัมพันธ์ตารางงานสัมมนาออนไลน์ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565

Continue reading “เมทเล่อร์-โทเลโด ประชาสัมพันธ์ตารางงานสัมมนาออนไลน์ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2565”

ผนึกกำลัง อาร์บีเอฟ อะแวนติกรุ๊ป และไทยยูเนี่ยน ตีตลาดธุรกิจส่วนผสมอาหารในประเทศอินเดีย

Continue reading “ผนึกกำลัง อาร์บีเอฟ อะแวนติกรุ๊ป และไทยยูเนี่ยน ตีตลาดธุรกิจส่วนผสมอาหารในประเทศอินเดีย”