DITP เตรียมบุกเจาะตลาดอินเดียด้วยการเจรจาออนไลน์

Continue reading “DITP เตรียมบุกเจาะตลาดอินเดียด้วยการเจรจาออนไลน์”

อธิบดีกรมประมง…ย้ำชัด “สัตว์น้ำ” ปลอดภัยไร้โรค “โควิด-19” แจงผู้บริโภคให้วางใจ…เน้นสุขอนามัยในการรับประทาน

  

 

23 ธันวาคม 2563 – นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ ซึ่งแหล่งแพร่กระจายโรคมาจากตลาดกุ้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่นๆ สร้างความตื่นตระหนกให้กับพี่น้องประชาชนถึงความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคสัตว์น้ำ อีกทั้งยังกระทบต่อการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ รวมถึงการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวประมงเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค กรมประมงจึงขอย้ำชัดอีกครั้งว่า ยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนา 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด โดยสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่มีปอด แต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกันนี้ อาทิ โรคซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน (อ้างอิงข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นายสัตว์แพทย์ ดร.วิน  สุรเชษฐพงษ์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

 

อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง  ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถูกทำลายด้วยความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที และหากความร้อนสูงขึ้นระยะเวลาที่เชื้อถูกทำลายจะสั้นลง (อ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมประมงยังได้เข้มงวดในการควบคุมความปลอดภัยและสุขอนามัยในสินค้าสัตว์น้ำเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตลอดสายการผลิต โดยมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์น้ำที่วางจำหน่ายก่อนถึงมือผู้บริโภค อีกทั้งยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและสุขอนามัยในกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง และผู้ประกอบการ พร้อมติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพและการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การคัดกรองลูกเรือประมงและคนประจำเรือในช่วงเวลาเข้า-ออก ณ ท่าเทียบเรือประมงทุกแห่ง การกำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-19 ในแรงงานที่เข้าไปทำงานในโรงงานแปรรูป เป็นต้น

 

 

DITP ร่วมกดแตรส่งออก “มะพร้าวอ่อน” สู่ตลาดจีน ภายใต้โครงการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด”

 

ประเทศไทย, 28 ธันวาคม 2563 – กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เข้าร่วมกดแตรสัญญาณ นำร่องส่งออก “มะพร้าวอ่อน” สู่ตลาดจีน ปริมาณ 100 ตัน หลังลงนามความร่วมมือ 3 ฝ่าย “กองทัพบก-พาณิชย์-เกษตร” ในการผลักดันส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและกดแตรสัญญาณการเริ่มส่งสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ภายใต้โครงการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ โดยเป็นการส่งออกมะพร้าวอ่อน จำนวน 5 ตู้คอนเทนเนอร์ จากเกษตรกรสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ปริมาณ 100 ตัน จากท่าเรือแหลมฉบังไปยังประเทศจีน คาดว่าจะส่งถึงจีนได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม และจะนำไปขายก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน

 

สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นความต่อเนื่องหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง 3 ฝ่าย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ในการช่วยเหลือเกษตรกร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยใช้จุดแข็งที่แต่ละหน่วยงานมี เช่น กองทัพบกจะใช้ที่ดินและกำลังพลในการพัฒนากิ่งพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลในด้านการผลิตที่ตลาดต้องการ และกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่การตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“การส่งออกสินค้าเกษตร นำร่องมะพร้าวอ่อนไปจีนในครั้งนี้ เป็นการเปิดตัวความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย และคาดว่าจะมีการส่งออกสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะตลาดจีน ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรไทยอีกหลายรายการ เช่น ลำไย สับปะรด และทุเรียน เป็นต้น”

 

ปัจจุบัน ไทยส่งออกมะพร้าวอ่อนไปทั่วโลก ในช่วง 11 เดือน ของปี 2563 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่า 3,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกไปจีน มูลค่า 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% หรือคิดเป็นสัดส่วน 75% ของยอดการส่งออกมะพร้าวอ่อนทั้งหมด

กรมประมง…ลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรฐานการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบ คุมเข้ม!! กุ้งไทยให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง…หนุนสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในไทยและตลาดโลก

 

สงขลา, 28 ธันวาคม 2563 – เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบ ตั้งแต่การเลี้ยง กระทั่งการแปรรูปเพื่อส่งออก หนุนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทย พร้อมยืนหยัดและเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก 

 

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “กุ้งทะเล” ถือเป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าจากการส่งออกและนำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่าปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยกรมประมงได้ให้ความสำคัญและเข้มงวดกับกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเล เพื่อให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งระบบ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ในปัจจุบันต่างหันมาใส่ใจต่อความปลอดภัยทางด้านอาหารมากยิ่งขึ้น

 

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตกุ้งทะเลในจังหวัดสงขลาครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งแหล่งวัตถุดิบ และแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออก โดยในระดับฟาร์มเลี้ยงได้ตรวจฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) พบว่าเกษตรกรได้ดูแลและบริหารจัดการฟาร์มตามหลักการต่างๆ ของ GAP อย่างเข้มงวด อาทิ ด้านสถานที่ การเลี้ยง การให้อาหารและปัจจัยการผลิต การจัดการสุขภาพสัตว์น้ำ รวมถึงสุขอนามัยฟาร์ม เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบการใช้ปัจจัยการผลิตทั้งในฟาร์มเลี้ยงและร้านค้า ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกรมประมงที่มีการควบคุมและเฝ้าระวังการใช้ยา รวมทั้งสารเคมีในระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้งทะเลอย่างสม่ำเสมอ จึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตกุ้งทะเลจากมาตรฐาน GAP มีคุณภาพ ถูกหลักสุขอนามัย ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ในโอกาสนี้ยังได้เยี่ยมชมโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกุ้งทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นโรงงานที่กรมประมง เคยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพร้อมแนะนำขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตสินค้า  ให้ปลอดภัยอย่างเข้มงวด และในครั้งนี้ทางกรมประมงได้เดินทางมาทวนสอบการดำเนินการซ้ำอีกครั้ง โดยผลปรากฏว่าทางโรงงานมีการดำเนินการตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด และได้เข้มงวดในเรื่องระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาตรฐานของวัตถุดิบที่รับเข้ามาแปรรูป การขนส่ง การนำวัตถุเข้าโรงงาน ตลอดจนตรวจสอบคุณภาพกุ้ง ความสด สะอาด รวมถึงขั้นตอนในการควบคุมกระบวนการแปรรูปให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออก ตั้งแต่การรับสินค้าเข้าจนกระทั่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจะส่งออก อีกทั้งยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางเคมีและจุลชีววิทยาของโรงงานด้วย

นอกจากนี้  โรงงานยังได้เพิ่มเติมมาตรการเฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการคัดกรองบุคลากรก่อนเข้า-ออกโรงงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่กรมประมงและกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

 

อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ดำเนินการสุ่มตัวอย่างสินค้าสัตว์น้ำที่จะส่งออกจากโรงงานแปรรูป เพื่อทวนสอบระบบการควบคุมการผลิต และติดตามคุณภาพสินค้า โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้า ณ โรงงานผลิต เพื่อตรวจวิเคราะห์ คุณภาพทางจุลินทรีย์ เคมี และกายภาพ และเมื่อสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานตามข้อกำหนดก็จะออกใบรับรองสุขอนามัยสินค้าสัตว์น้ำ (Health Certificate) เพื่อให้สินค้าสามารถส่งออกได้ต่อไป

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากการตรวจเยี่ยมกระบวนการผลิตสินค้ากุ้งทะเลทั้งระบบในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่า “ผลิตภัณฑ์กุ้งทะเลของไทย” มีความพร้อมและศักยภาพที่จะยืนหยัดอยู่ในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งต่อไป ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก