ชู “ธงโภชนาการ” จัดอาหารเด็กวัยเรียนในยุคโควิด-19 เสริมทัพลูกเรียนออนไลน์

อาหารและโภชนาการ “เด็กวัยเรียน” ถือเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยปัจจุบันภาวะสังคมเปลี่ยนแปลงไป เด็กบางคนพออายุครบ 3 ปี ก็เข้าโรงเรียนกันแล้ว ดังนั้น โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องอาหารและโภชนาการ ซึ่งจำเป็นต้องมีบุคลากรดูแลจัดการอาหารให้มีคุณค่าทางสารอาหารและพลังงานเพียงพอ

ผศ.พัทธนันท์ ศรีม่วง อาจารย์ด้านอาหารและโภชนาการ โครงการละออพลัส โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ กล่าวถึงพฤติกรรมการบริโภคของเด็กวัยเรียนว่า ถ้าเด็กไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ จะขาดสารอาหารบางชนิด ก่อให้เกิดโรคได้ ขณะเดียวกันถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไป แน่นอนจะเกิดภาวะโภชนาการเกิน น้ำหนักตัวมาก ทำให้เป็นโรคอ้วนได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันเด็กวัยนี้มีภาวะสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงอาหารได้ และรูปแบบอาหารเปลี่ยนแปลงไป หากเด็กๆ อ้วนตั้งแต่วัยเรียน และไม่สามารถควบคุมเรื่องน้ำหนักได้ พอโตเป็นผู้ใหญ่ก็อาจทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่งผลต่อสมรรถนะการทำงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างมาก อีกทั้งประสิทธิภาพการทำงานยังด้อยลงกว่าเดิม

 

“ในอดีตมักเกิดปัญหาขาดอาหารเป็นหลัก แต่ปัจจุบันพบว่าทิศทางปัญหาเปลี่ยนไป พบเด็กอ้วนมากขึ้น โดยในปี 2562 จากการสำรวจของกองโภชนาการ กรมอนามัย พบว่าเด็กอ้วนมีเปอร์เซ็นต์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เด็กส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ก็พบว่าขาดสารอาหารเรื้อรังจำนวนมากขึ้น ส่วนกลุ่มเด็กผอมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน”

 

ผศ.พัทธนันท์ กล่าวอีกว่า ในช่วงปี 2551-2560 มีเด็กไทยช่วงวัยเรียนและวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-19 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กไทยติดรสหวาน มาจากกลุ่มเครื่องดื่มที่มีอิทธิพลมาก แม้จะสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมภายในโรงเรียน แต่หน้าโรงเรียนยังมีจำหน่ายอยู่ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็ก เช่น ชานมไข่มุก บริโภค 1 แก้ว ให้พลังงานสูงถึง 600 กิโลแคลอรี น้ำตาลไม่ต่ำกว่า 10 ช้อนชา ขณะที่เด็กวัยเรียนควรได้รับน้ำตาลเพียงวันละ 4 ช้อนชาเท่านั้น ส่วนเด็กอีกกลุ่มไม่ได้บริโภครสหวาน แต่ผู้ปกครองให้รับประทานกลุ่มข้าว-แป้งปริมาณมาก เมื่อร่างกายได้รับแล้วเปลี่ยนเป็นน้ำตาล จะส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการค่อนข้างมาก โดยโรคอ้วนจะส่งผลต่อชีวิตเด็ก ไม่ว่าจะเป็น นอนกรน หยุดหายใจ ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ ความดันโลหิตสูง สมาธิสั้น ผลการเรียนเปลี่ยนไป และถ้าเป็นนานๆ จะกระทบต่อหัวใจและปอด ถ้าลูกอ้วนให้ปรับวิถีชีวิตใหม่เข้าสู่วิถีสุขภาพ ที่สำคัญทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติเหมือนกัน เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก

 

ผศ.พัทธนันท์ เปิดเผยว่า พฤติกรรมโภชนาการเด็กไทยในวัยเรียน มีดังนี้ 1. ไม่รับประทานผัก-ผลไม้ บางรายปฏิเสธรับประทานผัก ถึงขั้นอาเจียนออกมา ครอบครัวนับเป็นสาเหตุสำคัญ ต้องให้ความร่วมมือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก 2. ไม่รับประทานอาหารเช้า ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กบางคนตื่นสาย ไม่ต้องไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ work from home ทำงานที่บ้าน กว่าจะตื่นครบทั้งครอบครัวอาจเลยเวลารับประทานมื้อเช้าไปแล้ว 3. บริโภคขนมขบเคี้ยวและเบเกอรี 4. รับประทานอาหารประเภทผัด ทอด และกะทิ และ 5. รับประทานตามกลุ่มเพื่อนตามความนิยมวัฒนธรรมอาหารแบบตะวันตก

 

“เด็กอายุ 6-8 ปี มีความต้องการพลังงาน 1,400 กิโลแคลอรีต่อวัน ขณะที่เด็กอายุ 9-12 ปี มีความต้องการพลังงาน 1,700 กิโลแคลอรีต่อวัน ใน 1 วันเด็กวัยเรียนควรรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ ทั้งข้าว-แป้ง เนื้อสัตว์ ผักต่างๆ ผลไม้ และไขมัน-น้ำมัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกรับประทานอะไร ตัวเองก็ต้องรับประทานด้วย จะมีผลต่อเด็ก” ผศ.พัทธนันท์ กล่าว

 

ผศ.พัทธนันท์ แนะนำอีกว่า ปัจจุบันสิ่งที่ควรเรียนรู้ คือ “ธงโภชนาการ” จัดอาหารให้ถูกต้องเหมาะสมกับเด็กในวัยเรียน โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย จัดทำธงโภชนาการสำหรับเด็กอายุ 6-13 ปี ควรบริโภคดังนี้ ข้าว-แป้ง วันละ 8 ทัพพี ผัก วันละ 4 ทัพพี ผลไม้ วันละ 3 ส่วน นม 1-2 แก้ว และเนื้อสัตว์ วันละ 6 ช้อนโต๊ะรับประทานข้าว โดยถ้าแบ่งย่อยรายละเอียดให้ลึกลงไป เด็กอายุ 6-9 ปี ควรรับประทานสารอาหารต่อวัน ดังนี้ นมสด 1-2 แก้ว ไข่ 1 ฟอง ข้าว-แป้งอื่นๆ 6 ทัพพี เนื้อสัตว์ปรุงสุก 5-6 ช้อนโต๊ะ ผลไม้ตามฤดูกาล มื้อละ 1 ส่วน  ผักใบเขียวและอื่นๆ 1 ถ้วยตวง ไขมัน-น้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ ส่วนเด็กอายุ 10-12 ปี ควรรับประทานสารอาหารต่อวัน ดังนี้ นมสด 1-2 แก้ว ไข่ 1 ฟอง ข้าว-แป้งอื่นๆ 5-6 ทัพพี เนื้อสัตว์ปรุงสุก 6-7 ช้อนโต๊ะ ผลไม้ตามฤดูกาล มื้อละ 1 ส่วน ผักใบเขียวและอื่นๆ 1 ถ้วยตวง ไขมัน-น้ำมันพืช 1-2 ช้อนโต๊ะ หากได้รับอาหารไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้

 

 

ผศ.พัทธนันท์ กล่าวถึงแนวทางการจัดอาหารสำหรับเด็ก มีดังนี้ 1. เด็กต้องได้รับอาหารครบทั้ง 3 มื้อ 2. การปฏิเสธอาหารประเภทผักในเด็กเล็ก ให้เลือกผักไม่มีกลิ่นฉุน รสชาติไม่จัดจ้าน 3. ปรุงอาหารรสชาติจืด เน้นประกอบอาหารด้วยการต้ม นึ่ง อบ แทนการทอด 4. ชิ้นอาหารมีความเหมาะสมกับเด็ก 5. ไม่ให้บริโภคขนมกรุบกรอบ ขนมรสหวาน และน้ำหวานทุกชนิดก่อนรับประทานอาหารมื้อหลัก 6. อาหารว่างระหว่างมื้อเน้นผลไม้ แทนขนมกรุบกรอบและของทอด หรือจัดอาหารว่าง 200-250 กิโลแคลอรีต่อวัน 7. ควรจัดอาหารให้มีความหลากหลาย กระตุ้นความอยากรับประทานอาหาร 8. ฝึกสุขนิสัยที่ดี ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร ตักข้าวและกับข้าวให้พอดี รับประทานอาหารให้หมดจาน หลังรับประทานอาหารเสร็จ รู้จักเก็บภาชนะให้เรียบร้อย

 

ปิดท้ายที่แนวทางการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียน ผศ.พัทธนันท์ กล่าวว่า เด็กอนุบาล (อายุ 3-5 ปี) ควรบริโภคข้าว-แป้ง วันละ 1.5 ทัพพี เนื้อสัตว์ 1.5-2 ช้อนโต๊ะ ผัก 0.5-1 ทัพพี ผลไม้ 0.5-1 ส่วน นม 1 แก้ว ไขมัน-น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนเด็กประถมศึกษา 1-3 (อายุ 6-9 ปี) ข้าว-แป้ง 2 ทัพพี เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน นม 1 แก้ว ไขมัน-น้ำมัน 1.5 ช้อนโต๊ะ และเด็กประถมศึกษา 4-6 (10-12 ปี) ข้าว-แป้ง 3 ทัพพี  เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ ผัก 1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน นม 1 แก้ว ไขมัน-น้ำมัน 2 ช้อนโต๊ะ

 

หลายบ้านคุณพ่อคุณแม่กลุ้มใจ ลูกในวัยเรียนอ้วนน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ดังนั้น ควรหมั่นดูแลจัดอาหารให้ถูกตามหลักโภชนาการ ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ยิ่งต้องใส่ใจก่อนจะสายเกินแก้ จนส่งต่อร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสติปัญญาเด็กด้วย

 

จากแนวทางการจัดอาหารสำหรับเด็กวัยเรียนดังที่กล่าวมานี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสูตรอาหารสำหรับเด็กวัยเรียน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยของเราต่อไป…เพราะเด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า…และพวกเขาคืออนาคตของชาติ

METTLER TOLEDO พร้อมปลดล็อคและเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการ ด้วย LIVE WEBINAR เต็มรูปแบบ

พบกับ Live Webinar (สัมมนาออนไลน์) จาก Mettler-Toledo ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564 ที่พร้อมมอบความรู้และเทคนิคด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของผู้ประกอบการทุกท่าน แบบส่งตรงถึงที่ทำงาน หรือถึงบ้านของท่านในช่วง WFH นี้ ทั้งทีมงานและวิทยากรที่มีประสบการณ์ ได้คัดสรรหัวข้อสัมมนาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคนิคการใช้งานเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพและได้รับผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำที่สุด หรือหัวข้อพิเศษจากฝ่ายบริการที่จะมาแนะนำวิธีการตรวจเช็คเครื่องมือ เพื่อยืดอายุการใช้งานเครื่องมือให้ยาวนานยิ่งขึ้น นอกจากเนื้อหาความรู้แล้ว ยังมีกิจกรรมและเกมสนุกๆ ชิงรางวัล พร้อมช่วงของการถาม-ตอบ ซึ่งทางวิทยากรผู้บรรยายแต่ละหัวข้อพร้อมตอบคำถามของท่านแบบเรียลไทม์ในช่วงไลฟ์ทันที

 

📅 ตารางโปรแกรมเว็บบินาร์ประจำเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564

21 ก.ค. การติดตั้งและการเลือกใช้งานเครื่องมือ pH และ Conductivity

24 ส.ค. การออกแบบระบบเครื่องชั่งรถบรรทุกใต้ Silo/Hopper เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ COVID-19

8 ก.ย.   การวิเคราะห์ความผิดพลาดจากการชั่งน้ำหนักตามมาตรฐาน IS017025

13 ก.ย.  ระบบการควบคุมคุณภาพการวิเคราะห์หาปริมาณความชื้นอย่างมีประสิทธิภาพ

14 ก.ย.  การวิเคราะห์หาค่า DOBI และแนวทางการลดขั้นตอนและเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยเครื่อง UV/VIS

 

 

รายละเอียดเพิ่มเติมแต่ละหัวข้อ คลิก www.mt.com

หรือเพิ่มเพื่อน Line Official Account: @MTTH

เปิดรับลงทะเบียนวันนี้ รับจำนวนจำกัด

 

ชี้ช่อง e-Commerce รุกตลาดออนไลน์ พิชิตธุรกิจฮาลาลยุค New Normal

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จับมือศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย และเครือข่ายธุรกิจ Moc Bizclub จัดงานสัมมนาการสร้างและพัฒนาศักยภาพ e-Commerce หลักสูตรก้าวถูกทิศ พิชิตธุรกิจฮาลาล ยุค New Normal ภายใต้โครงการเพิ่มโอกาสการค้าด้วย e-Commerce เพื่อพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลค้าออนไลน์ โดยมี ผศ. ดร.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด รองผู้อำนวยการศูนย์​วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายพิชิต รังสิมันต์ นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลไทย นายสรยุทธ อังคณานุกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce และนายสยาม ทรัพย์สีทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพ ให้เกียรติร่วมบรรยาย

 

การปรับตัวธุรกิจฮาลาล 

นายพิชิต เปิดประเด็นการปรับตัวธุรกิจฮาลาลเพื่อเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ว่า สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการควรคำนึงและใส่ใจ คือ การทำสินค้าให้มีคุณภาพ ถ้าเป็นธุรกิจอาหารก็ต้องมีรสชาติอร่อย ถูกปากชาวบ้าน ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดูแล้วน่าสนใจ น่ารับประทาน ช่วยเพิ่มราคาสินค้าได้ แม้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs จะมีทุนน้อย สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจอาหารฮาลาล คือ ความซื่อสัตย์ ใส่ใจเลือกวัตถุดิบ ทำอาหารสะอาด ถูกหลักอนามัย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค

 

ตอบรับเทรนด์การส่งอาหารเดลิเวอรี 

ด้าน ผศ. ดร.นิฟาริด กล่าวว่า ในยุคโควิด-19 การส่งอาหารเดลิเวอรีได้รับความนิยมสูงมาก บางร้านมีเครื่องหมาย Clean Food Good Taste รับรอง ในขณะที่บางร้านไม่มี เรื่องนี้ภาครัฐควรเข้าไปดูแลตรวจสอบอย่างจริงจัง และในอนาคตควรเพิ่มคำว่า Safe in Transformation เข้าไปด้วย เพื่อให้ครอบคลุมครบทุกวงจร โดยหัวใจหลักของสินค้าเพื่อการบริโภคเน้นเรื่องความปลอดภัยและรสชาติอร่อย หากผู้ประกอบการหน้าใหม่ต้องการอยากจะเปิดตลาด อาจใช้วิธีการส่งสินค้าตัวอย่างไปให้ผู้บริโภคได้ลองชิม หรือแนะนำสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้ประกอบการหน้าใหม่ควรใส่ความคิดสร้างสรรค์ กล้านำเสนอสิ่งใหม่ นำสิ่งที่เคยทำไปต่อยอดพัฒนาขยายสินค้าให้มีความหลากหลายแปลกใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวในแวดวงร้านค้าต่างๆ เพื่อรู้เขารู้เรา นำข้อมูลไปปรับปรุงการให้บริการ เพิ่มการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า สร้างความไว้ใจให้มากยิ่งขึ้น

 

 

ยุคนี้คอนเทนต์ต้องโดน

นายสรยุทธ กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีแพลตฟอร์มใดดีที่สุด เพราะผู้บริโภคมีความหลากหลาย แต่ละร้านควรมีมากกว่า 1 แพลตฟอร์ม และต้องมีความเคลื่อนไหวทางโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ พร้อมตอบคำถามลูกค้าตลอดเวลา ที่สำคัญต้องหมั่นศึกษารายละเอียดคู่แข่ง ลองเอาคอนเทนต์เราไปเปรียบเทียบ โดยให้คิดว่าเป็นเหมือนการทำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร ควรมีทั้งประเภทข้อความที่โพสต์ประจำกับข้อความเนื้อหาพิเศษ เพื่อเพิ่มความหลากหลายและคุมโทนการโพสต์ อย่างน้อยควรลงข้อความวันละ 2 รอบ ยิ่งช่วงวิกฤตโควิด-19 ถนนธุรกิจทุกสายย้ายไปอยู่บนมือถือ คอนเทนต์สินค้าที่จะขายได้ต้องอ่านผ่านมือถือรู้เรื่อง โดยทั่วไปเน้นประเด็นไม่เยอะ สั้นๆ กระชับ แต่ถ้าเป็นเรื่องเด่นพิเศษที่น่าสนใจ ผู้อ่านก็อยากติดตามเข้าไปอ่านเนื้อหายาวๆ ต่อได้ รวมทั้งต้องพยายามมองหาลูกค้ามากกว่า 1 กลุ่ม ร้านใดเคยขายอาหารทั่วไปควรลองหันมาขายอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้น พร้อมกับลองสื่อสารข้อมูลผ่านทางโลกออนไลน์ จากนั้นทำการเก็บข้อมูลลูกค้าก่อนนำไปวิเคราะห์เพื่อผลิตเป็นคอนเทนต์

 

รายเล็กก็ผลิตคอนเทนต์เองได้ 

ปิดท้ายที่ นายสยาม กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่มีงบประมาณไม่มาก ก็สามารถผลิตคอนเทนต์โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ อย่างโทรศัพท์มือถือ ไว้ถ่ายภาพนิ่งและทำคลิปวิดีโอลงในสื่อออนไลน์ ผู้ประกอบการรายเล็กต้องสามารถเป็นเอเจนซีโฆษณาได้ด้วยตนเอง ทำตั้งแต่ Account Executive คนทำหน้าที่ดูแล จัดการ และบริหารลูกค้า รวบรวมข้อมูลทั้งหมดของธุรกิจ ศึกษารายละเอียดคู่แข่ง กำหนดคอนเทนต์ว่าต้องการสื่ออะไร จากนั้นต้องเป็น Creative นำไอเดียมาคิดต่อยอดว่าควรจะนำเสนอคอนเทนต์อย่างไรให้ตอบโจทย์ และเลือกมีเดียที่จะใช้สื่อออกไป ก่อนที่ Art Director จะเอาสิ่งที่ครีเอทีฟคิดมาคุมเนื้อหาไม่ให้หลุดคอนเซ็ปท์ จากนั้นไปจบที่การทำโปรดักชัน ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายคลิปวิดีโอและตัดต่อ หากมีงบประมาณไม่มาก ก็ต้องทำเองทุกขั้นตอน อาจทำผ่านแอปพลิเคชันง่ายๆ บนโทรศัพท์มือถือ ทำพอให้ใช้กับงานที่ลงในสื่อออนไลน์ได้

 

 

สำหรับจุดมุ่งหมายการสร้างคอนเทนต์เพื่อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ มีอยู่ 5 ประการ ได้แก่

  1. 1. Brand awareness การสร้างคอนเทนต์เพื่อการรับรู้ เหมาะสำหรับการเปิดตัวสินค้าใหม่
  2. 2. Brand Loyalty การสร้างคอนเทนต์เพื่อตอกย้ำให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้ หรือสร้างความจงรักภักดีให้กับตัวสินค้า
  3. 3. Follow up การสร้างคอนเทนต์ให้คนไปติดตามรายละเอียดของสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ
  4. 4. Sale การสร้างคอนเทนต์เพื่อเน้นขายสินค้าเพียงอย่างเดียว
  5. 5. Cycle repurchase การสร้างคอนเทนต์เพื่อให้ผู้บริโภคอยากกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ

 

ทั้งหมดเป็นความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่ต้องการแสวงหาตลาดในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป หันมาเลือกซื้อสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวพัฒนาศักยภาพ นำ e-Commerce ไปใช้ประกอบธุรกิจ โดยอาศัย Digital Economy เป็นเครื่องมือช่วยผลักดันขยายโอกาสและช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขยายธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล