Resilient and Innovative Food Systems งานสัมมนาระดับนานาชาติ เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของระบบอาหารที่มุ่งเน้นเพื่อแก้ปัญหาด้านความมั่งคงอาหารในทุกมิติ

     จากความตระหนักด้านระบบอาหารในปี พ.ศ. 2564 ที่งาน UN Food Systems Summit ซึ่งได้นำเสนอเกี่ยวกับความเปราะบางของระบบอาหารทั่วโลก จนส่งผลต่อความไม่มั่นคงของอาหาร (Food Insecurity) อันเกิดจากหลากหลายปัญหาทั้งโรคระบาด สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและความขัดแย้ง เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านอาหารสำหรับอนาคต ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นคงและความน่าเชื่อถือให้แก่ระบบอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

       

ทาง International Union of Food Science and Technology (IUFost) จึงร่วมกับองค์กรด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อาหารมากมายจากทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) องค์การอนามัยโลก (WHO) คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช. หรือ NXPO) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข. หรือ PMUC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อจัดงานสัมมนา “Resilient and Innovative Food Systems” ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมระบบอาหารและการเกษตรเพื่อความยั่งยืนในทุกด้าน และเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยงานสัมมนาครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากนักวิจัย ผู้บริหาร และสื่อที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อร่วมรับรู้และหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพด้านความมั่งคงอาหารและการเกษตรในระดับประเทศและระดับโลก

     

ภายในงานได้แบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ จากการแสดงให้เห็นถึงที่มาและความสำคัญของการมีระบบอาหารที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมกับกรณีศึกษาที่น่าสนใจจากต่างประเทศที่ได้นำนวัตกรรมอาหารเข้าไปช่วยให้อาหารมีความยั่งยืนมากขึ้น เช่น ประเทศสิงค์โปร์ที่ได้เปิดตัวและกำหนดมาตรการในการจำหน่ายเนื้อสัตว์จากห้องทดลอง (Cultured Meat) เป็นประเทศแรกๆ ของโลก แสดงให้เห็นถึงการเปิดรับนวัตกรรมการผลิตอาหารที่ช่วยให้สามารถผลิตอาหารได้มากขึ้น โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสวัสดิภาพสัตว์น้อยลง เป็นต้น

    

นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อบรรยายจากนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแหล่งโปรตีนทางเลือก ทั้งแมลง ไข่ผำ หรือเทมเป้ ที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบอาหาร และแนวทางการกำหนดกฎหมาย ความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารใหม่ชนิดต่างๆ ตลอดจนการอภิปรายที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนะแนวทางและสอบถามข้อสงสัยตลอดงานสัมมนาครั้งนี้