30 เมษายน 2563, กรุงเทพฯ – นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิด “โครงการ Thailand Fruits Golden Months: ไทยช่วยไทย ชาวสวนอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมมือกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ได้แก่ Thailandpostmart, Shopee, Lazada, JD Central, Jatujakmall, Cloudmall, The Hub Thailand และ Octorocket.asia สนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรไทยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยส่งเสริมช่องทางออนไลน์สำหรับจำหน่ายสินค้าการเกษตรเพื่อการส่งออก ผลไม้สดเกรดพรีเมียมคุณภาพส่งออก ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด และผลไม้ไทยอื่นๆ ที่จะทยอยออกสู่ตลาด เช่น ลำไย และลิ้นจี่ ซึ่งหลายสวนไม่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดในต่างประเทศได้เต็มที่ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้มอบกล่องใส่ผลไม้จำนวน 200,000 กล่อง เพื่อช่วยเกษตรกรที่ต้องการจำหน่ายผลไม้ผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ทั้งรับฟังและร่วมคิดร่วมวางแผนล่วงหน้ามาก่อนทุกระยะ และพอมีสถานการณ์ก็ปรับแผนงานรองรับเพิ่มทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้มาเปิดเดือนทองของผลไม้ 2 เดือน เพื่อส่งเสริมการค้าผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 7 แพลตฟอร์ม เพื่อให้คนไทยสามารถซื้อผลไม้คุณภาพดี เกรดส่งออก บริโภคได้สะดวก ในราคาถูก และสามารถช่วยเหลือชาวสวนผลไม้ทุกชนิด สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดในขณะนี้ รวมทั้งได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ เพื่อช่วยการส่งออกผลไม้ไทยไปสู่ผู้บริโภคต่างประเทศ สำหรับโครงการตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการจากกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ส่งออก รวม 50 ราย ขณะนี้มีจำนวนสินค้าขึ้นจำหน่ายแล้วกว่า 60 รายการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทย นำร่องจำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ต ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ภายใต้การดูแลของบริษัทไปรษณีย์ไทย โดยไม่คิดค่าขนส่งกระทรวงพาณิชย์
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ทุกหน่วยงานในสังกัดปรับแผนภารกิจเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนในทุกมิติ โดยแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบด้วย การผลักดันการกระจายผลไม้เกรดพรีเมียมผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ การตรวจติดตามการรับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การรับซื้อผลไม้และดูแลเกษตรกรให้ได้รับราคาที่เป็นธรรม การเชื่อมโยงซื้อขายผลไม้และทำสัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายในระหว่างเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร กับห้างโมเดิร์นเทรด ผู้ค้าส่งในตลาดไท ผู้ส่งออก ซึ่งดำเนินการแล้วจำนวน 40 สัญญา การเชื่อมโยงซื้อขายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ผ่านศูนย์รวบรวมผลไม้ของจังหวัดแหล่งผลิตกับผู้ซื้อจังหวัดนอกแหล่งผลิต เพื่อระบายผลผลิตออกสู่ตลาดให้กับผู้บริโภคโดยตรง
ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มช่องทางและจัดพื้นที่การจำหน่ายให้กับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร รวมถึงการรณรงค์การบริโภคผลไม้ โดยประสานและได้รับความร่วมมือจากห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดกลางสินค้าเกษตร และตลาดสดขนาดใหญ่ ตลอดจนเชื่อมโยงและกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคผ่านเครือข่ายความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย Biz Club เป็นต้น
ในส่วนของการส่งออก ให้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับแผนและภารกิจในการกระจายผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศปรับรูปแบบกิจกรรมต่างๆ จากรูปแบบเดิมเป็นรูปแบบออนไลน์ เพื่อเร่งรัดจัดกิจกรรมผลักดันการส่งออกเชิงรุก ได้แก่ การขยายตลาดสินค้าไทยในต่างประเทศผ่านร้าน TOPTHAI Flagship Store บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในตลาดเป้าหมาย อาทิ อเมซอนในตลาดสหรัฐอเมริกา ทีมอลในตลาดจีน คลังไทยในตลาดกัมพูชา และบิ๊กบาสเก็ตในตลาดอินเดีย การจัดทำ Online Instore Promotion ร่วมกับเว็บไซต์พันธมิตรชั้นนำในตลาดเป้าหมาย อาทิ อาเซียน จีน และภูมิภาคยุโรป จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย เพื่อให้เกิดความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น โดยได้ดำเนินการแล้วบนแพลตฟอร์ม Redmart สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15-28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา และจัดโปรโมชันจำหน่ายผลไม้ไทยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ร่วมกับ AEON Retail ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24-26 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดกิจกรรมเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับผู้ส่งออกไทย หรือ Online Business Matching อย่างต่อเนื่อง โดยปรับพื้นที่ของกรมฯ ให้เกิดความพร้อมทั้งอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกในการเจรจาการค้าออนไลน์ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบซูม (Zoom) และเว็บบินาร์ (Webinar) เพิ่มเติมด้วย ซึ่งล่าสุดได้จัดให้มีการเจรจาการค้ากับผู้นำเข้ามะม่วงจากประเทศเกาหลี โดยผลจากการเจรจาคาดว่าจะมียอดนำเข้าภายใน 1 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นปริมาณไม่น้อยกว่า 3,200 ตัน