มุ่งสู่เทคโนโลยีการผลิตเนื้อสุกรอย่างครบวงจรและระบบไฮยีนที่ได้มาตรฐาน

          บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็กโคแล็ป จำกัด และบริษัท เอเชี่ยน บี ฟู้ด จำกัด ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “เทคโนโลยีการแปรรูปสุกร มาตรฐานโรงงานแปรรูปสุกรและระบบไฮยีนที่ได้มาตรฐาน” ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตเนื้อสุกรอย่างปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ครบวงจรและมาตรฐานการผลิตที่ถูกสุขลักษณะแก่ผู้ประกอบการชำแหละ ตัดแต่ง และแปรรูปเนื้อสุกร

          งานนี้ได้รับเกียรติจาก คุณศิโรตน์ นุกูลธรรม กรรมการ บริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด หรือ OFM กล่าวเปิดงาน พร้อมแนะนำเทคโนโลยีการชำแหละ ตัดแต่งและแปรรูป จากบริษัทฯ พร้อมพาร์ทเนอร์ที่ได้มีการนำเครื่องจักรจาก OFM มาใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการชำแหละสุกรมาอย่างยาวนาน โดย OFM เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องจักรในโรงเชือดและโรงตัดแต่งสุกรแบบครบวงจรมากว่า 20 ปี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช็อตสุกร 3 จุดที่ช่วยลดกระดูกแตกและจุดเลือด ราวแขวนหมูอัตโนมัติ เครื่องปั่นขน เครื่องเลื่อยกระดูก และเครื่องจักรอื่นๆ พร้อมบริการหลังการขายอย่างดีเยี่ยม รวมถึงบริษัทในเครือฯ ได้แก่ บริษัท ทะเลเทคโนโลยี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรแปรรูปเนื้อสัตว์ และบริษัท ชบาโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ให้บริการด้านการออกแบบและรับเหมาก่อสร้างอาคารและโรงงานอย่างครบวงจร (Turnkey Project Solution) นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอระบบบริหารจัดการโรงชำแหละสุกร (Wisdom Technology) ซึ่งเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์และถูกออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการไทย

 

          จากนั้น ผศ.น.สพ.ดร. สุเจตน์ ชื่นชม ที่ปรึกษาสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย และที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้อัปเดตกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโรงงานแปรรูปสุกรและการผลิตสุกรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งปัญหาที่มักพบในธุรกิจชำแหละเนื้อสุกร เช่น โรคปากเท้าเปื่อย สารเร่งเนื้อแดง (กลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์) สารปฏิชีวนะและโลหะหนัก ซึ่งแนวทางป้องกันปัญหาต้องเริ่มจากการที่ฟาร์ม โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานตัดแต่งเนื้อสัตว์และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ต้องมีการจัดทำระบบไม่ว่าจะเป็น GAP GMP และ HACCP เพื่อให้สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาต่างๆ ได้ พร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อสุกร ได้แก่ พรบ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2559 พรบ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรฐานฟาร์มสุกร พ.ศ. 2566 และพรบ. ควบคุมการฆ่าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำไปถึงผู้ประกอบการที่กำลังจะเริ่มประกอบธุรกิจโรงเชือดสุกรว่าต้องมีการวางแผนการตลาดให้รอบคอบ ก่อนที่จะกลับมาวางโครงสร้างภายใน เพื่อคำนึงถึงต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนาดโรงฆ่าสุกร จำนวนสุกรเข้าเชือด เงินทุน เครื่องจักรและอุปกรณ์ การขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำระบบมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

 

          คุณวีระยา เตชะรัตน์พงษ์ บริษัท เอ็กโคแล็บ จำกัด และคุณกัญญาวีร์ บุเงิน บริษัท เอเชี่ยน บี ฟู้ด จำกัด ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการด้านสุขลักษณะที่ดีในโรงงานแปรรูปสุกรแบบมาตรฐานครบวงจร ด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 420 พ.ศ. 2563 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหาร ทั้งนี้ จึงได้เน้นย้ำถึงกระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้น ฝาผนังและเพดาน รวมถึงระบบแอร์และระบบระบายอากาศ ด้วยการคำนึงถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ ชนิดและความเข้มข้นของสารเคมี อุณหภูมิ ระยะเวลา และแรงขัดถู รวมถึงการทำความสะอาดด้วยระบบโฟมและการเลือกสารทำความสะอาดให้เหมาะสม เช่น INCIMAXX DES N ซึ่งเป็นกรดเปอร์อะซิติก สำหรับฆ่าเชื้อโรคปากเท้าเปื่อยในคอกสุกร และ TOPAX DUO 2 IN 1 เป็น Amine-based ไม่มีส่วนผสมของควอท สำหรับใช้ทำความสะอาดและขจัดคราบไขมันบนพื้นผิว ผนังและอุปกรณ์ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และโรงแปรรูปเนื้อสัตว์ ซึ่งสามารถลดขั้นตอนในการทำความสะอาดจาก 5 ขั้นตอนเหลือ 3 ขั้นตอน จึงช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการได้มากขึ้น เป็นต้น

 

       

          ในช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้เยี่ยมชมเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากบริษัท โอนเนอร์ ฟู้ดส์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด พร้อมชมการสาธิตเทคโนโลยีการล้างและทําความสะอาด จาก บริษัท เอ็กโคแล็บ จํากัด รวมถึงเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์จากบริษัท เอเชี่ยน บี ฟู้ด จำกัด อีกด้วย

Guidelines for Certifying Food with Function Claim Thailand (FFC Thailand)
Part One: The Origins of Making Certified Health Claims in Thailand

Continue reading “Guidelines for Certifying Food with Function Claim Thailand (FFC Thailand)
Part One: The Origins of Making Certified Health Claims in Thailand”